ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ
SME (SMESI) ประจำเดือนกันยายน 2567
อยู่ที่ระดับ 49.6
ทรงตัวใกล้เคียงเดือนก่อนหน้า
ผลกระทบน้ำท่วม สภาวะเศรษฐกิจทรงตัว การท่องเที่ยวชะลอตัวตามฤดูกาล
ส่งผลดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ SMESI ก.ย. 67 ต่ำกว่าระดับค่าฐานต่อเนื่องเป็นเดือนที่
3 แม้เริ่มเห็นสัญญาณการกลับมาของกำลังซื้อในระยะสั้น
แต่ค่าคาดการณ์ในอีก 3 เดือนข้างหน้า เพิ่มขึ้นจากฤดูกาลท่องเที่ยวช่วงปลายปีและเทศกาลเฉลิมฉลองต่าง
ๆ จะสามารถดึงความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ SME กลับมาได้
นางสาวปณิตา ชิณวัตร
รองผู้อำนวยการรักษาการแทนผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม
เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ SME (SMESI) ประจำเดือนกันยายน 2567 อยู่ที่ระดับ 49.6 ทรงตัวใกล้เคียงกับเดือนก่อนหน้าจากระดับ
49.4 และยังคงอยู่ในระดับต่ำกว่าระดับค่าฐานที่ 50
ซึ่งสะท้อนความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน ถึงแม้จะมีแรงหนุนจากกำลังซื้อที่เร่งตัวสูงขึ้นชั่วคราว
ในกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค กลุ่มสินค้าจำเป็นช่วงฟื้นฟูหลังเหตุอุทกภัย เช่น
อุปกรณ์ทำความสะอาด อาหารแห้ง
ในขณะที่ภาพรวมภาคธุรกิจยังเผชิญแรงกดดันจากด้านราคาสินค้าต้นทุนที่เร่งตัวในหลายพื้นที่
รวมถึงใช้เงินลงทุนซ่อมแซมปรับปรุงสินทรัพย์ที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัย ส่งผลโดยตรงต่อความเชื่อมั่นด้านผลประกอบการของผู้ประกอบการในปัจจุบัน
เมื่อพิจารณาองค์ประกอบของดัชนีพบว่า องค์ประกอบด้านคำสั่งซื้อ
ปริมาณการผลิต/การค้า/บริการ การลงทุน อยู่ที่ระดับ 54.9, 52.7 และ 51.1
ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 52.5, 52.1 และ 50.9 ในขณะที่องค์ประกอบด้านกำไร ต้นทุนรวม
(ต่อหน่วย) และการจ้างงาน ปรับตัวลดลงอยู่ที่ระดับ 49.8, 39.4 และ 49.9 จากระดับ
50.9, 40.4 และ 49.8
สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ
SME รายสาขาธุรกิจ
ประจำเดือนกันยายน 2567
พบว่า ค่าดัชนีเพิ่มขึ้นเกือบทุกภาคธุรกิจยกเว้นภาคการผลิต ผลจากราคาสินค้าต้นทุนที่ปรับเพิ่มสูงขึ้น
โดยภาคการผลิต อยู่ที่ระดับ 50.7 ซึ่งลดลงมาจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ
52.3 ในขณะที่ ภาคการค้า อยู่ที่ระดับ 49.7 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ
49.1 แต่ภาพรวมยังมีความกังวลต่อสถานการณ์เศรษฐกิจ โดยกลุ่มการค้าส่งและค้าปลีกสินค้าอุปโภคบริโภคปรับตัวดีขึ้น
จากอุปสงค์ชั่วคราวที่เพิ่มขึ้นหลังเหตุอุทกภัย
รวมถึงการค้าและบริการเกี่ยวกับยานยนต์ก็ปรับตัวดีขึ้นจากภาพรวมลูกค้าที่นำรถยนต์และรถจักรยานยนต์เข้ามารับบริการ
ภาคการบริการ อยู่ที่ระดับ 48.5 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 47.5 แต่ความเชื่อมั่นยังอยู่ในระดับต่ำเมื่อเปรียบเทียบกับภาคธุรกิจอื่น
โดยปรับตัวดีขึ้นในภาคบริการขนส่งสินค้าที่มีการลำเลียงสินค้าไปยังพื้นที่อุทกภัย
รวมถึงการบริการทั้งกลุ่มที่พักชั่วคราวที่ปรับตัวดีขึ้นจากสถานการณ์ดังกล่าว ภาคธุรกิจการเกษตร
อยู่ที่ระดับ 53.3 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 52.1 เป็นผลบวกจากช่วงฤดูกาลเก็บเกี่ยวและมีการทยอยขายสินค้าในหลายพื้นที่
สร้างผลดีกับภาคธุรกิจชัดเจน นอกจากนี้บางพื้นที่ยังมีการเตรียมปรับปรุงพื้นที่
เพื่อรองรับการเพาะปลูกในรอบถัดไป
ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ SME รายภูมิภาค พบว่า ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อยู่ที่ระดับ 50.7 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 48.7 เศรษฐกิจขยายตัวและกลับมาอยู่ในระดับเชื่อมั่นอีกครั้ง จากกลุ่มการบริการและการค้าเป็นหลัก โดยมีสาเหตุมาจากกำลังซื้อที่เพิ่มขึ้นช่วงหลังฟื้นฟูจากสถานการณ์อุทกภัย โดยเฉพาะพื้นที่ใกล้เคียงกับจังหวัดที่ติดลุ่มแม่น้ำโขง ทั้งการค้าสินค้าอุปโภคบริโภคจำเป็นและการบริการกลุ่มที่พักชั่วคราวรวมถึงบริการซ่อมบำรุง เขตกรุงเทพฯและปริมณฑล อยู่ที่ระดับ 50.2 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 49.3 จากสภาวะเศรษฐกิจกลับมาขยายตัวโดยค่าดัชนีเร่งตัวขึ้น และเข้าสู่ระดับความเชื่อมั่นจากปัจจัยบวกของการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ที่ลุล่วง มีผลความต่อเนื่องของนโยบายกระตุ้นการบริโภค โดยภาคการผลิตหลายสาขา รวมถึงภาคการค้ามีการเพิ่มการผลิตและสต็อกสินค้าเพื่อรองรับการจำหน่ายในช่วงปลายเดือนที่ได้ผลดีจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ภาคกลาง อยู่ที่ระดับ 47.1 ทรงตัวจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 47.2 ความเชื่อมั่นทรงตัวใกล้เคียงเดือนก่อนหน้า ถึงแม้พื้นที่จะได้แรงหนุนจากกำลังซื้อภาคธุรกิจการเกษตรที่เป็นช่วงที่มีการเก็บเกี่ยวผลผลิตและขายได้มากที่สุด รวมถึงกิจกรรมการท่องเที่ยวในจังหวัดอยุธยาฯ ที่เพิ่มขึ้นกว่าเดือนก่อนหน้า อย่างไรก็ตามภาคการผลิตหลายสาขายังชะลอตัวลงต่อเนื่อง เช่น กลุ่มผลิตเครื่องหอม และ การผลิตอัญมณี ภาคใต้ อยู่ที่ระดับ 50.5 ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 51.1 ผู้ประกอบการยังมีความเชื่อมั่นต่อภาคธุรกิจ จากแรงหนุนของกิจกรรมการท่องเที่ยวจากนักท่องเที่ยวมาเลเซียในพื้นที่ฝั่งอ่าวไทยเป็นสำคัญ ในขณะที่ภาพรวมยังได้รับแรงกดดันจากด้านต้นทุน รวมถึงเศรษฐกิจฝั่งอันดามันและภูเก็ตที่ชะลอลงจากผลกระทบของสภาพอากาศและอุทกภัย ภาคตะวันออก อยู่ที่ระดับ 48.2 ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 49.6 จากราคาต้นทุนที่เร่งตัวสูงขึ้น ทั้งค่าสาธารณูปโภคและพลังงาน กระทบต่อความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจ รวมถึงกำลังซื้อที่หดหาย จากการลดชั่วโมงการทำงานของโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่หลายแห่ง ซึ่งกระทบต่อรายได้ของลูกจ้างในพื้นที่ กระทบต่อภาคการค้าเป็นสำคัญ รวมถึงกลุ่มธุรกิจบริการในกลุ่มการพักผ่อนและความผ่อนคลาย เช่น สปา วัฒนธรรม เป็นต้น ภาคเหนือ อยู่ที่ระดับ 48.5 ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 50.4 จากสถานการณ์อุทกภัยที่รุนแรงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 กระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการทั่วทุกภูมิภาค โดยเฉพาะภาคการผลิตที่สถานประกอบการเสียหาย รวมถึงภาคการบริการกลุ่มการท่องเที่ยวที่นักท่องเที่ยวจีนในพื้นที่ชะลอลง อย่างไรก็ตามยังมีกลุ่มการค้าสินค้าจำเป็นที่สามารถปรับตัวดีขึ้นตามความจำเป็นของการอุปโภค
สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 53.5 ซึ่งคาดว่ากิจกรรมเศรษฐกิจช่วงปลายปี ไม่ว่าเทศกาลเฉลิมฉลองต่าง ๆ ช่วงวันหยุดยาว จะทำให้ระดับความเชื่อมั่นปรับตัวดีขึ้นเกือบทุกองค์ประกอบ ยกเว้นด้านการลงทุน และการจ้างงาน ซึ่งเป็นการตัดสินใจระยะยาวที่ยังทรงตัว ตามความไม่แน่นอนของสภาวะเศรษฐกิจและการเงินในปีต่อไป
ในด้านการให้ความช่วยเหลือที่ผู้ประกอบการ SME ต้องการจากหน่วยงานภาครัฐ คือการให้ความช่วยเหลือและเยียวยาธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาอุทกภัย เช่น เงินทุน สินเชื่อต่าง ๆ มาตรการป้องกันน้ำท่วมในระยะยาว รวมถึงมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายที่จะช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจ เช่น การกระตุ้นการท่องเที่ยวในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยและเมืองท่องเที่ยวอื่น ๆ หรือโครงการเงินดิจิทัลที่ต้องการให้มีการพิจารณาสิทธิของผู้มีสิทธิ์ได้รับเงินเพิ่มเติม นอกจากนี้ การส่งเสริมศักยภาพให้กับธุรกิจ เช่น การมีหน่วยงานคอยให้คำปรึกษาในการดำเนินธุรกิจ การส่งเสริมการส่งออกสินค้าไปยังต่างประเทศ ยังเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการ SME ต้องการท่ามกลางการแข่งขันที่สูงขึ้น ทั้งนี้ผู้ประกอบการ SME สามารถค้นคว้าองค์ความรู้ต่าง ๆ เพิ่มเติมได้ที่ SME Connext หรือสอบถามผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านของกลุ่มธุรกิจต่าง ๆ และพร้อมให้คำปรึกษาแก่ผู้ประกอบการ SME ผ่าน https://coach.sme.go.th/ ทั้งนี้ยังสามารถสอบถามรายละเอียดหรือข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ศูนย์ให้บริการ SME ครบวงจรซึ่งตั้งอยู่ในทุกจังหวัดทั่วประเทศ หรือที่ สสว. Call Center โทร. 1301
สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.)
เลขที่ 120 หมู่ 3 ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550
(อาคารซี) ชั้น 2, 10, 11 ถนนแจ้งวัฒนะ แขวงทุ่งสองห้อง
เขตหลักสี่ กรุงเทพ 10210
โทร. 1301 , 02-142-9000
อีเมล์ saraban@sme.go.th (สารบรรณกลาง หรือส่งหนังสือ)
อีเมล์ osmepcare@sme.go.th (ส่งเรื่องร้องเรียน หรือร้องทุกข์ของ สสว.)
อีเมล์ info@sme.go.th (ส่งเรื่อง สอบถามข้อมูล เสนอแนะความคิดเห็น)