TH
EN

สสว. เปิดมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อย สู้ภัยเศรษฐกิจยุคโควิด-19



สสว. เปิดแนวทางช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอี มุ่งเสริมสภาพคล่อง พร้อมเพิ่มศักยภาพให้ผ่านวิกฤตโควิด-19 อย่างตรงจุด เตรียมมาตรการช่วยเหลือแบบครบวงจรรอบด้าน ทั้งโควตาจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ กำหนดวงเงินจัดซื้อจากรายย่อย เสริมศักยภาพผ่านการอบรมในรูปแบบชีวิตวิถีใหม่ (New Normal)  พร้อมตั้งศูนย์ให้ความช่วยเหลือ 77 จังหวัด รวมถึงจัดหาผู้เชี่ยวชาญ 2.7 พันคนลงพื้นที่ช่วยเอสเอ็มอี

ผศ. ดร. วีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยว่า จากวิกฤตการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่เกิดขึ้น ได้ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็ก (เอสเอ็มอี) อย่างรุนแรง ซึ่งจากผลสำรวจพบว่าจะมีเอสเอ็มอีที่ได้รับความเดือดร้อนกว่า 1.33 ล้านราย และกระทบกับแรงงานกว่า 4 ล้านคน 

จากผลสำรวจ พบว่าผู้ประกอบการเอสเอ็มอีต้องการความช่วยเหลือด้านการเสริมสภาพคล่อง และการกระตุ้นเศรษฐกิจระดับรากหญ้า เพื่อช่วยอุดหนุนให้เกิดการจ้างงานต่อไป ซึ่งสสว. ในฐานะหน่วยงานหลักในการส่งเสริมผู้ประกอบการ SME จึงได้ร่วมหารือกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมบัญชีกลาง กองทัพอากาศ สภาอุตสาหกรรม เปิดมาตรการความข่วยเหลือต่างๆ ประกอบด้วย 

1. การเข้าถึงการจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานภาครัฐ นำร่องโครงการผ่านความร่วมมือกับ กองทัพอากาศ นำเอสเอ็มอีหารือ บริษัท อุตสาหกรรมการบิน จำกัด หวังปั้นเอสเอ็มอีเจาะงานชิ้นส่วนอากาศยานของภาครัฐ พร้อมยกระดับเอสเอ็มอีสู่อุตสาหกรรม S-curve 

2. ปรับเปลี่ยนการดำเนินงานให้เป็นเชิงลึกมากขึ้น ร่วมกับการเพิ่มศักยภาพผู้ประกอบการผ่านการส่งเสริมเกี่ยวกับการทำธุรกิจออนไลน์ เช่น การให้ความรู้ในการทำธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ การถ่ายภาพสินค้า การเปิดร้านค้าออนไลน์บนแพลตฟอร์ม (E-market place) ในช่องทางต่างๆ ให้ตรงกับศักยภาพของผู้ประกอบการ และศักยภาพของสินค้า โดยเริ่มดำเนินการตั้งแต่บัดนี้ ไปจนถึงเดือนมิถุนายน 2563 และอาจต่อเนื่องไปจนถึงเดือนกันยายน 2563 หากสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 กลับมาอีกครั้ง

3. มอบหมายศูนย์ให้บริการเอสเอ็มอีครบวงจร (OSS) ทั่วประเทศ 77 จังหวัด ทำการสำรวจและรับข้อร้องเรียนจากผู้ประกอบการ รวบรวมปัญหาและความต้องการช่วยเหลือที่เกิดขึ้น พร้อมทำหน้าเป็นตัวกลาง เชื่อมต่อเอสเอ็มอีที่ประสบปัญหากับหน่วยงานที่มีมาตรการช่วยเหลือโดยตรง ทั้งนี้ผู้ประกอบการที่ต้องการความช่วยเหลือสามารถติดต่อศูนย์ให้บริการเอสเอ็มอีครบวงจร (OSS) แต่ละจังหวัด หรือโทรสายด่วน 1301
4. ดำเนินการโครงการ Train the Coach โดยรวบรวมและขึ้นทะเบียนผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ เพื่อเป็นที่ปรึกษาเชิงลึกหรือโค้ชให้กับผู้ประกอบการ โดยได้มีการพัฒนาโค้ชแยกตามกลุ่มต่างๆ ดังนี้ กลุ่ม Biz Mentor จำนวน 547 คน กลุ่ม Tech Expert จำนวน 2,133 คน และกลุ่ม Biz Transformer จำนวน 20 คน รวมจำนวนโค้ชที่ขึ้นทะเบียนไว้ในระบบทั้งสิ้น 2,700 คน หลังจากสำรวจและรวบรวมปัญหาและความต้องการของผู้ประกอบการในแต่ละพื้นที่แล้ว สสว. พิจารณาส่งที่ปรึกษาเหล่านี้ลงพื้นที่ให้คำปรึกษาแนะนำในการปรับตัวให้ทันต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19ต่อไป

5. ส่วนโครงการพัฒนาผู้ประกอบการทั้งกลุ่มเริ่มต้นธุรกิจและผู้ประกอบการทั่วไปกว่า 30,000 ราย ในปีนี้ สสว. ได้ปรับเปลี่ยนวัตถุประสงค์ โดยจะมุ่งไปที่การลดต้นทุนของผู้ประกอบการ ซึ่งจะจัดหานวัตกรรมใหม่ๆประยุกต์ใช้เทคโนโลยี และการจัดทำมาตรฐานสินค้าและบริการ รวมทั้งเน้นการพัฒนาศักยภาพในการเชื่อมโยงธุรกิจ Offline to Online (O2O) ซึ่งเป็นส่วนสำคัญต่อความอยู่รอดของธุรกิจมากขึ้นในยุคที่การบริโภคหนีโควิด-19 ไปจับจ่ายสินค้าทางออนไลน์

6. ในขณะที่การส่งเสริมด้านการตลาด จากการที่ผู้ประกอบการไม่สามารถไปออกตลาดในต่างประเทศได้ สสว.จึงได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบมามุ่งเน้นตลาดภายในประเทศมากขึ้น ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการหาแนวทางความช่วยเหลือผู้ประกอบการจากภาวะการรักษาระยะห่างทางสังคม หรือ Social Distancing เช่นการเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมมาเสริม เป็นต้น



สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.)
21 อาคารทีเอสที ชั้น G,17,18,23 ถนนวิภาวดีรังสิต แขวงจอมพล เขตจตุจักร กรุงเทพฯ 10900

โทร. 1301
แฟกซ์ 0-2273-8850

อีเมล์ saraban@sme.go.th (สารบรรณกลาง หรือส่งหนังสือ)
อีเมล์ osmepcare@sme.go.th (ส่งเรื่องร้องเรียน หรือร้องทุกข์ของ สสว.)
อีเมล์ info@sme.go.th (ส่งเรื่อง สอบถามข้อมูล เสนอแนะความคิดเห็น)