TH
EN

10 ศักยภาพการเติบโต เปรียบเทียบวิสาหกิจที่เป็นนิติบุคคล กับ บุคคลธรรมดา



10 ศักยภาพการเติบโต เปรียบเทียบวิสาหกิจที่เป็นนิติบุคคล กับ บุคคลธรรมดา  

          สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยผลการสำรวจศักยภาพและโอกาสในการเติบโตของ MSME ไตรมาสที่ 1 ปี 2567  โดยสำรวจจากกลุ่มตัวอย่างของผู้ประกอบการ MSME เบื้องต้นจำนวน 1,000 ราย ประกอบด้วยกิจการที่เป็นบุคคลธรรมดาจำนวน 500 ราย และกิจการที่เป็นนิติบุคคลจำนวน 500 ราย พบผลการศึกษาใน 10 ประเด็นที่น่าสนใจ สะท้อนศักยภาพ MSME ดังนี้

 1. นิติบุคคลเติบโตเฉลี่ยได้ดีกว่าบุคคลธรรมดา

กิจการ MSME ที่เป็นบุคคลธรรมดาโดยเฉลี่ยมีศักยภาพและโอกาสในการเติบโตในระดับต่ำค่อนไปทางระดับปานกลาง โดยมีค่าเฉลี่ยของดัชนีของดัชนีศักยภาพและโอกาสในการเติบโตเท่ากับ 0.5420 ในขณะที่กิจการที่เป็นนิติบุคคลโดยเฉลี่ยมีศักยภาพและโอกาสในการเติบโตในระดับปานกลาง โดยมีค่าเฉลี่ยของดัชนีดัชนีศักยภาพและโอกาสในการเติบโตเท่ากับ 0.6274

          2. นิติบุคคลน่าเชื่อถือ มีระบบบริหารงานดีกว่าบุคคลธรรมดา

ลักษณะดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่า การจดจัดตั้งเป็นนิติบุคคลเป็นกลไกสำคัญที่ช่วยยกระดับศักยภาพและโอกาสในการเติบโตให้แก่ MSME เนื่องจากจะช่วยผลักดันให้ผู้ประกอบการและกิจการต้องมีการปรับปรุงและพัฒนากระบวนการดำเนินงานหลายประการ ซึ่งส่งผลดีต่อประสิทธิภาพการดำเนินงานและความน่าเชื่อถือของกิจการ และช่วยให้กิจการมีศักยภาพและโอกาสในการเติบโตสูงขึ้น ตัวอย่างเช่น การจัดทำบัญชีและงบการเงินอย่างเป็นมาตรฐานเพื่อรายงานต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า จะช่วยให้กิจการรับรู้ผลการดำเนินงานที่แท้จริงของตนเอง ช่วยให้เห็นปัญหาที่แท้จริงของกิจการ นำไปสู่การแก้ปัญหาที่ตรงจุด อีกทั้งยังช่วยในการขอสินเชื่อจากสถาบันการเงินได้อีกด้วย นอกจากนี้การเป็นนิติบุคคลยังช่วยสร้างความน่าเชื่อให้แก่กิจการ ช่วยดึงดูดบุคลากรที่มีศักยภาพให้มาทำงาน ช่วยในการสร้างเครือข่ายพันธมิตรทาง ธุรกิจ อีกทั้งยังช่วยให้เข้าถึงการช่วยเหลือและสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐได้อย่างทั่วถึงมากยิ่งขึ้นอีกด้วย

          3. ศักยภาพนิติบุคคลมีความเหนือกว่าบุคคลธรรมดารอบด้าน

เมื่อพิจารณาองค์ประกอบการย่อยทั้ง 4 ของศักยภาพและโอกาสในการเติบโต จะเห็นว่ากิจการนิติบุคคลมีศักยภาพเหนือกว่ากิจการบุคคลธรรมดาเป็นอย่างมากในด้านปัจจัยพื้นฐานของกิจการ ด้านคุณลักษณะของผู้ประกอบการ และด้านการดำเนินงานของกิจการ นั่นคือ กิจการบุคคลธรรมดามีศักยภาพด้านปัจจัยพื้นฐานของกิจการและด้านการดำเนินงานของกิจการในระดับปานกลาง แต่กิจการนิติบุคคลมีศักยภาพทั้งสองด้านดังกล่าวในระดับสูง ในขณะที่กิจการบุคคลธรรมดามีศักยภาพด้านคุณลักษณะของผู้ประกอบการในระดับต่ำ แต่กิจการนิติบุคคลมีศักยภาพด้านดังกล่าวในระดับปานกลาง

          4. นิติบุคคลใหญ่และพร้อมขยายมากกว่าบุคคลธรรมดา

ลักษณะดังกล่าวสะท้อนว่า กิจการนิติบุคคลโดยเฉลี่ยมักมีขนาดใหญ่กว่าและมีความพร้อมมากกว่ากิจการบุคคลธรรมดา ทำให้มีข้อได้เปรียบในการทำธุรกิจหลายประการ ไม่ว่าการมีความพร้อมทางด้านปัจจัยการดำเนินงานที่จำเป็น ความสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนในต้นทุนต่ำ การได้รับข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์อย่างสม่ำเสมอ ตลอดจนการมีความรู้และทักษะที่จำเป็น ส่งผลทำให้มีศักยภาพและโอกาสในการเติบโตสูงตามไปด้วย

          5. นิติบุคคลมีกฎกติกาควบคุมด้านการเงินที่เข้มงวดกว่าบุคคลธรรมดา สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง

อย่างไรก็ตาม กิจการนิติบุคคลมีศักยภาพด้านผลประกอบการของกิจการต่ำกว่ากิจการบุคคลธรรมดาค่อนมาก โดยกิจการบุคคลธรรมดาโดยเฉลี่ยมีศักยภาพด้านผลประกอบการของกิจการในระดับปานกลางค่อนสูง ในขณะที่กิจการนิติบุคคลมีศักยภาพด้านดังกล่าวเพียงในระดับต่ำเท่านั้น สาเหตุสำคัญได้แก่

a. กิจการนิติบุคคลต้องจัดทำบัญชีและงบการเงินตามมาตรฐานการบัญชี จึงทำให้สามารถจัดทำบัญชีและงบการเงินที่สะท้อนต้นทุนของกิจการอย่างครบถ้วน ทั้งต้นทุนที่เป็นตัวเงิน และต้นทุนที่ไม่เป็นตัวเงิน ตัวอย่างเช่น ค่าเสื่อมราคา ค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ ฯลฯ จึงทำให้ตัวเลขกำไรของกิจการนิติบุคคลมีค่าต่ำกว่า

b. กิจการนิติบุคคลมีแนวโน้มที่จะมีกำไรมาก ทำให้ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นจำนวนมาก จึงมีแนวโน้มที่จะมีการจัดการกำไร (Earnings Management) เพื่อให้ตัวเลขกำไรมีค่าลดลง เพื่อให้ได้ประโยชน์ในทางภาษี

c. กิจการนิติบุคคลมักมีขนาดใหญ่กว่ากิจการบุคคลธรรมดา ทำให้มีเครื่องจักรอุปกรณ์ขนาดใหญ่ที่มีต้นทุนสูง ซึ่งต้องมีปริมาณการผลิตจำนวนมากจึงจะสามารถมีต้นทุนขายในอัตราต่ำได้ ดังนั้น หากมีปริมาณการผลิตที่ไม่เหมาะสมกับขนาดของเครื่องจักรอุปกรณ์ก็จะทำให้ต้นทุนขายมีอัตราสูง ทำให้อัตรากำไรสุทธิต่ำลงได้

d. การคำนวณดัชนีศักยภาพด้านผลประกอบการเฉพาะกรณีของ MSME ที่เป็นนิติบุคคลมีตัวชี้วัดสัดส่วนรายได้อื่น ๆ ที่มิได้มาจากการขายสินค้าและให้บริการ ซึ่งเป็นตัวชี้วัดการกระจายความเสี่ยงของกิจการ โดยพบว่ากิจการเกือบทั้งหมดยังไม่มีการสร้างรายได้จากแหล่งอื่น ๆ ส่งผลทำให้ดัชนีผลประกอบการของกิจการของ MSME ที่เป็นนิติบุคคลมีค่าต่ำกว่า

6. การเติบโตและความแข็งแกร่งสอดคล้องตามขนาดวิสาหกิจ ยิ่งขนาดใหญ่ยิ่งแข็งแรง 

เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบระหว่างวิสาหกิจรายย่อยและวิสาหกิจขนาดย่อมที่เป็นบุคคลธรรมดา พบว่าวิสาหกิจขนาดย่อมมีศักยภาพเหนือกว่าวิสาหกิจรายย่อยในทุกมิติ ทั้งศักยภาพและโอกาสในการเติบโตในภาพรวม และศักยภาพตามองค์ประกอบย่อย และเมื่อพิจารณาเปรียบเทียบระหว่างวิสาหกิจขนาดย่อมที่เป็นนิติบุคคลและวิสาหกิจขนาดกลาง พบว่าผลลัพธ์ไม่แตกต่างกัน นั่นคือ วิสาหกิจขนาดกลางมีศักยภาพเหนือกว่าวิสาหกิจขนาดย่อมในทุกมิติ ทั้งศักยภาพและโอกาสในการเติบโตในภาพรวม และศักยภาพตามองค์ประกอบย่อย

7. วิสาหกิจขนาดกลางมีโอกาสก้าวสู่การเติบโตสูงสุด

หากไม่คำนึงถึงศักยภาพด้านผลประกอบการของกิจการ วิสาหกิจขนาดกลางมีศักยภาพและโอกาสในการเติบโตสูงที่สุด ทั้งในภาพรวมและด้านปัจจัยพื้นฐานของกิจการ ด้านคุณลักษณะของผู้ประกอบการ และด้านการดำเนินงานของกิจการ ในขณะที่วิสาหกิจรายย่อยมีศักยภาพต่ำที่สุด ทั้งในภาพรวมและองค์ประกอบย่อยทั้งสามด้านดังกล่าว

8. ความรู้และทักษะยังเป็นอาวุธที่สำคัญเพื่อยกระดับความได้เปรียบ

เมื่อเปรียบระหว่างวิสาหกิจขนาดย่อมที่เป็นบุคคลธรรมดาและเป็นนิติบุคคล พบว่ากิจการทั้งสองรูปแบบมีศักยภาพด้านปัจจัยพื้นฐานของกิจการใกล้เคียงกัน อย่างไรก็ตาม วิสาหกิจขนาดย่อมที่เป็นนิติบุคคลมีศักยภาพด้านคุณลักษณะของผู้ประกอบการและด้านการดำเนินงานของกิจการสูงกว่าวิสาหกิจขนาดย่อมที่เป็นบุคคลธรรมดา สะท้อนว่าการที่มีผู้ประกอบการมีความรู้และทักษะที่พร้อมต่อการทำธุรกิจจะนำไปสู่การดำเนินงานที่เกื้อหนุนต่อการยกระดับประสิทธิภาพในการดำเนินงานและการสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน

9. โดยรวมนิติบุคคลมีศักยภาพเติบโตที่ดีกว่าบุคคลธรรมดา

หากพิจารณาสัดส่วนของกิจการ MSME จำแนกตามระดับศักยภาพและโอกาสในการเติบโตจะเห็นได้อย่างชัดเจนว่ากิจการนิติบุคคลมีศักยภาพและโอกาสในการเติบโตสูงกว่าวิสาหกิจที่เป็นบุคคลธรรมดาอย่างชัดเจน โดยกิจการนิติบุคคลที่มีศักยภาพและโอกาสในการเติบโตในระดับปานกลางขึ้นมีสัดส่วนร้อยละ 79.20 ในขณะที่กิจการบุคคลธรรมดาที่มีศักยภาพและโอกาสในการเติบโตในระดับปานกลางขึ้นมีสัดส่วนเพียง ร้อยละ 42.80

10. โอกาสเติบโต สอดคล้องไปกับขนาดของวิสาหกิจที่ดำเนินการ

หากพิจารณาตามกลุ่มย่อยของวิสาหกิจ พบว่าขนาดของกิจการมีความสัมพันธ์ในเชิงบวกกับระดับศักยภาพและโอกาสในการเติบโต กล่าวคือ วิสาหกิจรายย่อย วิสาหกิจขนาดย่อมที่เป็นนิติบุคคลวิสาหกิจขนาดย่อมที่เป็นบุคคลธรรมดา และวิสาหกิจขนาดกลางที่มีศักยภาพและโอกาสในการเติบโตในระดับปานกลางขึ้นไปมีสัดส่วนร้อยละ 27.61 76.82 80.01 และ 93.16 ตามลําดับ

สามารถติดตามรายละเอียดรายงานสถานการณ์ของ MSME ไตรมาสที่ 1 ปี 2567 คลิกที่นี่









 



สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.)
เลขที่ 120 หมู่ 3 ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550
(อาคารซี) ชั้น 2, 10, 11 ถนนแจ้งวัฒนะ แขวงทุ่งสองห้อง
เขตหลักสี่ กรุงเทพ 10210

โทร. 1301 , 02-142-9000

อีเมล์ saraban@sme.go.th (สารบรรณกลาง หรือส่งหนังสือ)
อีเมล์ osmepcare@sme.go.th (ส่งเรื่องร้องเรียน หรือร้องทุกข์ของ สสว.)
อีเมล์ info@sme.go.th (ส่งเรื่อง สอบถามข้อมูล เสนอแนะความคิดเห็น)